วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

การเล่นซออู้

วิธีการเล่น

การเทียบเสียงซออู้
ใช้ขลุ่ยเพียงออเป่าเสียง ซอล โดยปิดมือบนและนิ้วค้ำ เป่าลมกลางๆ จะได้เสียง ซอล เพื่อเทียบเสียงสายเอก ส่วนสายทุ้ม ให้ปิดมือล่างหมด จนถึงนิ้วก้อย เป่าลมเบา ก็จะได้เสียง โด ตามต้องการ เพื่อเทียบเสียงสายทุ้ม ให้ตรงกับเสียงนั้น
การนั่งสีซอ
นั่งขัดสมาธิบนพื้น หากเป็นสตรีให้นั่งพับเพียบขาขวาทับขาซ้าย วางกะโหลกซอไว้บนขาพับด้านซ้าย มือซ้ายจับคันซอให้ตรงกับที่มีเชือกรัดอก ให้ต่ำกว่าเชือกรัดอกประมาณ 1 นิ้ว ส่วนมือขวาจับคันสี-โดยแบ่งคันสีออกเป็น 5 ส่วน แล้วจับตรง 3 ส่วนให้คันสีพาดไปบนนิ้วชี้ และนิ้วกลางในลักษณะหงายมือ ส่วนนิ้วหัวแม่มือ ใช้กำกับคันสีโดยกดลงบนนิ้วชี้ นิ้วนางและนิ้วก้อยให้งอติดกัน เพื่อทำหน้าที่ดันคันชักออกเมื่อจะสีสายเอก และ ดึงเข้าเมื่อจะสีสายทุ้ม
การสีซอ
วางคันสีให้ชิดด้านใน ให้อยู่ในลักษณะเตรียมชักออก แล้วลากคันสีออกช้าๆด้วยการใช้วิธีสีออก ลากคันสีให้สุด แล้วเปลี่ยนเป็นสีเข้าในสายเดียวกัน ทำเรื่อยไปจนกว่าจะคล่อง พอคล่องดีแล้ว ให้เปลี่ยนมาเป็นสีสายเอก โดยดันนิ้วนางกับนิ้วก้อยออกไปเล็กน้อย ซอจะเปลี่ยนเป็นเสียง ซอล ทันที ดังนี้
คันสี ออก เข้า ออก เข้า เสียง โด โด ซอล ซอล
ฝึกเรื่อยไปจนเกิดความชำนาญ
ข้อควรระวัง ต้องวางซอให้ตรง โดยใช้มือซ้ายจับซอให้พอเหมาะ อย่าให้แน่นเกินไป อย่าให้หลวมจนเกินไป ข้อมือที่จับซอต้องทอดลงไปให้พอดี ขณะนั่งสียืดอกพอสมควร อย่าให้หลังโกงได้ มือที่คีบซอให้ออกกำลังพอสมควรอย่าให้ซอพลิกไปมา

ซออู้


ซออู้
เป็นเครื่องสายใช้สี กล่องเสียงทำด้วยกะลามะพร้าวเรียกว่า “กะโหลกซอ” ตัดตามยาวให้พูอยู่ข้างบน ใช้เป็นเครื่องอุ้มเสียง ขึงหน้าด้วยหนังวัว คันทวนทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ตอนบนมีลูกบิดสำหรับขึงสาย สายซอทำด้วยไหมฟั่นมีคันชักอยู่ระหว่างสาย กะโหลกและทวนบางคันก็แกะสลักลวดลายวิจิตรบรรจงสวยงามน่าดู ซออู้มีเสียงทุ้มต่ำ บรรเลงคู่และสอดสลับกับซอด้วงในวงเครื่องสายและวงมโหรี เมื่อราวสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาภายหลังได้นำเข้ามาบรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์ไม้นวม และวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ด้วย ในการปรับปรุงวงดนตรีประกอบการแสดงละครของกรมศิลปากรซึ่งจัดแสดง ณ โรงละครศิลปากร ได้ปรับปรุงวงปี่พาทย์โดยให้ซออู้บรรเลงร่วมด้วยตามโอกาส